วันศุกร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2550

ถอดรหัส Toyota Production System

สาระสำคัญของลีน

หลายต่อหลายองค์กรพยายามที่จะลอกเลียนแบบแนวคิด TPS หรือเอาส่วนใดส่วนหนึ่งมาใช้เพื่อปรับปรุงกระบวนการขั้นตอนการทำงานของตัวเอง รายการที่มักพบเห็นได้บ่อยก็คือ kanban workcell SPC Pokayoke เป็นต้น แต่หลายคนก็ไม่ทราบว่าเครื่องไม้เครื่องมือเหล่านั้นเป็นผลงานที่เกิดจาก วัฒนธรรมองค์กรของ Toyota เองที่วิวัฒนาการผ่านปีแล้ว ปีเล่า

ในบทความตอนหนึ่งจาก Harvard Business Review คุณ Steven Spear และคุณ Kent Bowen ได้บ่งชี้คุณลักษณะที่สำคัญบางประการในวัฒนธรรมของ Toyota เองที่ช่วยผลักดันให้เติบโตยิ่งขึ้น ๆ ข้อยึดถือที่สำคัญที่เขาพยายามสรุปรวมและกล่าวถึงคือ

"ในทุกขึ้นตอนกระบวนการจะต้องมีการควบคุม ทดลองเชิงวิทยาศาสตร์ ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องโดยบุคคลที่ทำงานอยู่หน้างานนั่นเอง"

จากข้อยึดถือข้างต้นได้ช่วยก่อให้เกิด "กฏที่ไม่ต้องเอ่ยถึง" ขึ้นมา 5 ข้อซึ่งถือเป็นธรรมเนียมที่ Toyota ได้ยึดถือปฏิบัติกันในสองกระบวนการที่สำคัญของเขา คือ กระบวนการผลิต และกระบวนการปรับปรุง



กฏข้อที่ 1

จงทำการระบุให้ชัดเจนในเอกสารที่ใช้ในการปฏิบัติงาน โดยจะต้องรวมถึงข้อมูลที่สำคัญดังนี้ คือ เนื้อหา ขั้นตอน เวลา และ ก็ผลลัพธ์ กฏข้อนี้ถือว่าเป็นส่วนที่สำคัญยิ่ง ตัวอย่างเช่นเมื่อพนักงานประกอบเบาะนั่ง โดยใช้ Bolts สี่ตัว ลำดับการใส่ Bolts ทั้งสี่ตัวจะถูกกำหนดเอาไว้ชัดเจนทำให้พนักงานจะต้องทำแบบเดียวกันในทุกๆ ครั้งที่ประกอบเบาะนั่งดังกล่าว จุดที่ว่าสำคัญก็คือการทำเช่นนี้จะช่วยสร้างความเชื่อมโยงกันระหว่างวิธีการทำงานกับผลลัพธ์ของมันได้อย่างเหนียวแน่น ซึ่งหากพนักงานแต่ละคนทำด้วยวิธีที่แตกต่างกันละก็ความสัมพันธ์ดังกล่าวก็คงจะขาดไป และในเมื่อพนักงานหลายคนสามารถที่จะสร้างความต่างกันในการทำงานได้ ดังนั้นทีมของกลุ่มคนดังกล่าวก็ย่อมที่จะทำการวิเคราะห์ ทดลอง เปลี่ยนแปลง ปรับปรุง เพื่อหาวิธีการที่ดีที่สุดร่วมกันได้เช่นกัน

กฏข้อที่ 2

การเชื่อมโยงกระบวนการจะต้องมีเพียงสัญญาณ Yes หรือ No เท่านั้น กฏด้งกล่าวก่อให้เกิดที่มาของ Kanban และก็เครื่องมือวางแผนการผลิตอื่นๆ ที่ตามมา มันช่วยในการกำหนดให้แต่ละกระบวนการต้องส่งงานไปยังกระบวนการถัดไป (ลูกค้า) โดยใช้วิธีการที่ชัดเจนและถูกต้อง

กฏข้อที่ 3

งานต้องเคลื่อนตัวผ่านขั้นตอนเดียวกัน ง่าย และก็ตรง นั่นหมายถึงว่าตัวงานควรที่จะถูกกำหนดให้เคลื่อนที่ผานขั้นตอน เครื่องจักร เครื่องมือที่เหมือนกัน ลำดับเดียวกัน วิธีการเดียวกันให้มากที่สุด จะช่วยสร้างให้เกิดความสม่ำเสมอซึ่งส่งผลให้การแก้ปัญหาทำได้ง่าย และการปรับปรุงส่งผลในวงกว้าง การส่งจายวัตถุดิบ รวมไปถึงการวางแผนการผลิตก็จะง่ายด้วยเช่นกัน

กฏข้อที่ 4

พนักงานในระดับรากหญ้า (ต่ำที่สุดเท่าที่จะหาได้) จะต้องได้รับการแนะแนวทางในการปรับปรุงงาน เพื่อนำไปปรับปรุงงานของเขาเองโดยใช้หลัก วิธีการทางวิทยาศาสตร์มาช่วยในการวิเคราะห์ปรับปรุง ซึ่งเป็นที่มาของกิจกรรม Kaizen นั่นเอง

กฏข้อที่ 5

ในทุกกิจกรรม ขั้นตอนที่สามารถแปรเปลี่ยนและสร้างปัญหานั้นจะต้องมีการติดตั้งระบบเตือน หรือป้องกันการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ซึ่งเป็นหลักการของ Jidoka หรือ Autonomation ซึ่งจะช่วยไม่ให้ตัวงานที่เกิดปัญหาหลุดรอดหรือไหลต่อเนื่องไปได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น