วันพฤหัสบดีที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

รายการตรวจสอบการไหลของกระบวนการแบบง่าย

               หากคุณได้เริ่มมีประสบการณ์ทำงานส่วนงานปรับปรุง ไม่ว่าจะเป็นหนึ่งในทีมไคเซ็น ทีมงานลีน ทีมงานปรับปรุงต่อเนื่อง ทีมงาน Operational Excellence หรือทีมผู้บริหารระดับกลางถึงสูง เมื่อคุณได้มีโอกาสในการเยี่ยมชมสถานประกอบการใดๆ คุณคงอยากที่จะมีส่วนร่วมในการทบทวน หรือค้นหาโอกาสในการปรับปรุงอย่างง่ายๆ และรวดเร็วเพื่อให้ข้อมูลกับสถานประกอบการ หรือทีมงานที่เป็นเจ้าของพื้นที่ที่คุณได้เยี่ยมชม  หลายท่านอาจจะมีประสบการณ์มากมายในการทบทวนหาโอกาสดังกล่าวด้วยการสังเกตุหรือมองหาความสูญเปล่าทั้ง 7 ประการ (บางตำราอาจจะมากกว่านี้) ซึ่งก็ถือว่าง่ายและมีประสิทธิภาพ แต่วันนี้ผมอยากจะแนะนำรายการตรวจสอบอีกรูปแบบที่มาในลักษณะคำถามที่ง่ายในการทบทวนการไหลของงานที่หน้างานพร้อมทั้งชี้โอกาสในการปรับปรุงได้ ซึ่งผมได้ใช้ในการอบรมลูกทีมในองค์กรบ่อยครั้งเช่นกันเพราะพบว่าเข้าใจได้ง่าย และนำไปดำเนินการปรับปรุงได้ในทันที


               วิธีการใช้งานคือนำคำถามข้างล่างนี้ไปสังเกตุที่หน้างานและระบุคำตอบ 3 อย่างได้แก่  สิ่งที่สังเกตุเห็น  สิ่งที่อยากจะเปลี่ยน และ อุปสรรคที่ทำให้ยากในการเปลี่ยนแปลง   นำคำตอบทั้ง 3 กลุ่มนี้ไปทบทวนเพื่อปรับปรุงเป็นกาลต่อไป                    


รายการคำถามเพื่อทบทวนการไหลของงานแบบง่ายได้แก่

1. ในพืนที่ทำงานมีการระบุ พื้นที่จัดเก็บวัตถุดิบ หรือ WIP ชัดเจน พร้อมระบุปริมาณขั้นต่ำสุด และสูงสุดชัดเจนหรือไม่?
2. เมื่อยืนที่หน้างาน เราสามารถมองเห็นการไหลของงานได้อย่างชัดเจนหรือไม่ (จากไหน ไปไหน)?
3. พนักงานที่ปฏิบัติงานสามารถบอกได้หรือไม่ว่าสินค้าที่กำลังผลิตนั้นได้ตามยอด และเวลาที่กำหนดในขณะนั้น?
4. พนักงานที่ปฏิบัติงานสามารถบอกได้หรือไม่ว่าสินค้าที่จะต้องดำเนินการผลิตถัดไปคืออะไร เท่าไร?
5. ระบบในการลำเลียงวัตถุดิบเข้ามา และสินค้าที่ผลิตแล้วออกไปมีชัดเจนหรือไม่ หมายถึง ใครดำเนินการ เมื่อไรควรดำเนินการ และดำเนินการด้วยวิธีการมาตรฐานอย่างไร?
6. หน้างานมีสัญลักษณ์ สัญญาณใดบ่งชี้ที่เห็นได้ชัดเจน เข้าใจได้ทุกคน ว่าสถานการณ์ปัจจุบันปกติ/ไม่ปกติ หรือไม่?
7. มาตรฐานสำหรับหัวหน้างานในการตรวจสอบสัญญาณดังกล่าวในระหว่างทำงานมีหรือไม่ อย่างไร?
8. เมื่อสถานการณ์ปัจจุบันไม่ปกติ พนักงานมีมาตรฐานในการตอบโต้หรือไม่ อย่างไร?
9. ทีมงานมีรูปแบบการค้นหาโอกาสและวางแผนในการปรับปรุงงานหรือไม่อย่างไร?
10. ที่หน้างานมีเอกสารแสดงวิธีการทำงานมาตรฐานระบุขั้นตอน และเวลาที่ใช้ ในแต่ละสถานีที่ทำงานหรือไม่?
11. มีการจัดทำตารางทักษะพนักงานที่หน้างาน รวมทั้งแผนการอบรมทักษะดังกล่าวหรือไม่?
12. มีเอกสารที่จัดทำขึ้นเพื่อสอน และสร้างทักษะงานที่มีในตารางทักษะดังกล่าวหรือไม่?
 
               จะสังเกตุเห็นว่าแค่ประเด็นคำถามง่ายๆ ข้างต้น จะนำไปสูโอกาสในการปรับปรุงมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการริเริ่ม หรือต่อยอดจากสิ่งที่มีอยู่แล้วก็ตาม จากประสบการณ์ของผม ความยากไม่ได้อยู่ที่การตอบคำถาม แต่เป็นการสร้างระบบให้ผู้นำที่เกี่ยวของในพื้นที่ลุกขึ้นมาเดินดูและทบทวนกับคำถามดังกล่าว  ซึ่งนั่นจำเป็นต้องให้ผู้บริหารกำหนดความคาดหวังให้ชัดเจนเท่านั้น ถึงจะเกิดได้....