วันพฤหัสบดีที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2557


ความท้าทายในการจัดตารางงานกระบวนการผลิตรูปแบบ Job Shop (Job Shop Scheduling)

                เมื่อการจัดตารางงานกลายเป็นเรื่องสำคัญยิ่งในการที่จะรักษาการไหลของงานให้ดีเยี่ยม โดยหากองค์กรของท่านมีรูปแบบการผลิตแบบ Mass production(Product Focus) หรือ Repetitive Focus (Group Technology) มักจะไม่ค่อยมีความยุ่งยากซับซ้อนมากนักแต่สำหรับองค์กรใดที่มีกลยุทธ์กระบวนการผลิต แบบ Job Shop หรือ Process Focus แล้วละก็มันคงเปรียบเสมือนฝันร้ายเลยทีเดียวในบทความนี้เราจะมาทำความเข้าใจกันว่าความยุ่งยากดังกล่าวเกิดจากสาเหตุใด

อะไรคือกลยุทธ์กระบวนการผลิตแบบ Job Shop หรือ Process Focus?

                คือรูปแบบการผลิตที่ผังโรงงานจะถูกจัดวางเพื่อเน้นประสิทธิภาพของกระบวนการแต่ละกระบวนการเป็นสำคัญ  เครื่องจักรมักจะมีราคาสูงใช้ผลิตสินค้าได้หลากหลายรูปแบบ แต่ว่าออกแบบมาให้เจาะจงกับกระบวนการเดียวเท่านั้น ต้นทุนการดำเนินการจึงสูงตาม การไหลของงานจะมีความซับซ้อนอันเนื่องมาจากผังโรงงานดังกล่าว  และต่างส่วนจะทำงานแยกส่วนกันขาดความเชื่อมโยงในตารางงานการผลิต ซึ่งนั่นทำให้การจัดทำตารางการผลิตเป็นเรื่องที่ยากยิ่งยวดไปในฉับพลัน

                ในส่วนของคำสั่งซื้อของลูกค้าหรือความต้องการของลูกค้ามักจะมีปริมาณไม่เยอะแต่หลากหลาย  ส่วนขั้นตอนการทำงานมักจะมีมากมายตามจำนวนสินค้า สต็อคสินค้าสำเร็จรูปมักจะไม่มีเพราะผลิตตามคำสั่งซื้อ แต่สินค้าคงคลังในกระบวนการผลิตมักจะมีสูงมาก ต้นทุนผันแปรจะสูงเพราะต้องการวัตถุดิบหรือส่วนประกอบที่หลากหลายแต่จำนวนไม่มาก แรงงานก็ต้องมีทักษะสู่ง ต้นทุนการจัดการก็สูงตามความซับซ้อนและหลากหลายของสินค้า

               


รูปแสดงการจัดผังในโรงงานแยกส่วนออกเป็นกระบวนการและการไหลของงานที่มีความซับซ้อน

ความท้ายทายสำหรับการจัดตารางงานของกระบวนการประเภท Job Shop

1.ลูกค้าเปลี่ยนใจ

                สำหรับธุรกิจประเภทนี้มักจะเจอฝันร้ายกับการเปลี่ยนแปลงความต้องการของลูกค้าหลังจากที่ได้รับคำสั่งซื้อมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเปลี่ยนแปลงปริมาณ  ขอบเขตงาน  แบบของงานหรือเปลี่ยนลำดับความสำคัญของงานที่สั่งไว้ก่อนหน้า ตัวอย่างเช่นเมื่อแผนงานกำหนดเวลาส่งมอบกับงานหนึ่งไว้แล้วในอีกสามสัปดาห์ ในขณะที่คนงานกำลังง่วนทำกับงานที่ลูกค้าแจ้งว่าอยากได้ในสัปดาห์นี้อยู่  ทันใดนั้นเองลูกค้าคุณโทรมาบอกให้เลื่อนงานที่ทำอยู่ไปก่อนแล้วรีบดึงงานที่วางแผนไว้ในอีกสามสัปดาห์ขึ้นมาทำโดยด่วนเพราะลูกค้าของลูกค้าคุณเร่งจะได้ของเพื่อไปใช้งาน แน่นอนลูกค้าขอ เราก็ต้องจัดให้ คนงานคุณต้องยกเลิกการปรับตั้งกระบวนการ หรือเครื่องจักรกลางคัน อุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือต้องปรับเปลี่ยน คุณต้องทำให้ลูกค้าแฮปปี้  และคุณก็อาจจะทำได้สำเร็จรอดพ้นไปอีกสัปดาห์  แต่ผลที่ตามมาคือ งานอื่นๆ ที่อยู่ในคิวจะยังตามแผนงานหรือไม่? คุณจะต้องเผชิญกับปัญหาเดียวกันในสัปดาห์หน้าหรือเปล่า?

2.คู่ค้าหรือผู้รับงาน ผู้จำหน่ายของให้คุณไม่ค่อยแม่น

                หลายต่อหลายครั้งเราได้รับการยืนยันหนักแน่นจากผู้รับงานจากเรา ผู้จำหน่ายวัตถุดิบให้เรา และเราก็เผื่อเวลาไว้ให้อีกต่างหาก แต่ท้ายที่สุดกลับกลายเป็นว่าทุกอย่างไม่ได้เป็นไปตามที่เราคาดไว้เลย  ทันทีที่เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นแน่นอน ตารางงานของเราก็ต้องปรับเปลี่ยนไปในทันที  เราอาจจะตัดสินใจทำงานถัดไป  และอาจจะต้องประหลาดใจเมื่ออีกสองสามวันถัดมางานดังกล่าวมาส่งให้เรา แล้วเราก็ต้องรีบเปลี่ยนกระบวนการกลับมาทำงานนี้อีกรอบ เพราะลูกค้าโทรมาเร่ง ท้ายที่สุดก็จะเกิดตารางงานที่จัดลำดับงานตามเจ้าหน้าที่ฝ่ายขายที่เสียงดังที่สุด (ใครร้องเสียงดังไปถึงเจ้าของธุรกิจก่อน หรือดังกว่า ได้งานก่อน) แล้วคิดว่าแผนงานจะยังคงประสิทธิภาพ?

3. กลุ่มรายการสินค้าที่อยู่ในคำสั่งซื้อคำสั่งผลิตเปลี่ยน  จุดที่เป็นข้อจำกัด(คอขวด) ก็เปลี่ยน

                กับการนำเสนอสินค้าที่หลากหลายมากมาย และคำสั่งซื้อปริมาณที่ไม่มาก  กลุ่มรายการสินค้าที่เรากำลังทำอยู่คงจะเปลี่ยนแปลงไปมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  ซึ่งการวางแผนที่ทรงประสิทธิภาพคือการวางแผนที่จุดที่เป็นคอขวด หรือข้อจำกัดของการผลิตหรือธุรกิจให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดคงจะยากยิ่งขึ้นเมื่อจุดดังกล่าวต้องเปลี่ยนแปลงไปมาเช่นกัน

4. พนักงานขาดทักษะและวินัย

                ปัญหาคลาสสิกสำหรับทุกองค์กร เราจะมีคนที่มีทักษะสูงในบางเรื่อง ด้วยในบางเรื่องผสมผสานกัน และก็มักจะเป็นการยากในการที่จะผลักดันให้คนของเราพยายามที่จะเรียนรู้ปรับปรุงทักษะเพิ่มเติมให้เชี่ยวชาญขึ้น ให้หลากหลายขึ้น ตามสภาพธุรกิจที่ต้องเผชิญกับความหลากหลายและซับซ้อนดังกล่ว  ในขณะเดียวกัน เนื่องด้วยสภาพการทำงานที่มีหนัก มีเบาด้วยคำสั่งซื้อของสินค้า ที่หลากหลายทั้งปริมาณและชนิดนั่นทำให้พนักงานเผชิญกับงานที่มีช่วงหนักมาก และก็ว่างมาก ทำให้การควบคุมระเบียบวินัยการทำงานก็กลายเป็นเรื่องยาก  ไม่ว่าจะเป็นเวลาทำงาน หรือความคาดหวังเรื่องอัตราการผลิต

5. กระบวนการเราเองไม่นิ่ง

                ขนาดในธุรกิจที่ไม่ซับซ้อนที่มีรูปแบบการผลิตแบบ Mass production(Product Focus) หรือ Repetitive Focus (Group Technology) ยังเผชิญปัญหาในการดำเนินงานตามมาตรฐานงานที่กำหนดขึ้นเรื่องการปรับตั้ง การผลิต การควบคุมคุณภาพ และก็พยายามหาทางปรับปรุงอยู่ตลอด (ขนาดใช้อยู่คนเดียวผลิตอย่างเดียวบนเครื่องจักรเดียวก็เถอะ)  แต่สำหรับธุรกิจที่เป็น Job Shop ที่แต่ละวันอาจจะมีคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ ไม่เคยทำเข้ามาอยู่เป็นประจำ มาตรฐานจะมีมั้ย จะทำขึ้นมาทันมั้ย? แล้วแผนงานจะแม่นมั้ยถ้ายังไม่มีมาตรฐาน?  จึงกลายเป็นพฤติกรรมแย่ๆ ว่าจัดตารางเผื่อไว้ก่อน? แล้วประสิทธิภาพจะดีมั้ยหากตารางงานที่จัดไว้เผื่อไว้ตลอด?

6. เครื่องจักรหยุดซ่อม

                หลีกเลี่ยงไม่พ้นเครื่องจักรต้องมีโอกาสหยุดซ่อม  ซึ่งอาจจะเกิดจากการขาดการวางแผนซ่อมบำรุงที่ดีพอ ซึ่งอาจจะมีสาเหตุมาจากรเร่งงานอยู่ตลอดเวลา  เครื่องหยุด ใช้ได้แล้วก็เร่ง แล้วก็หยุดซ่อม ใช้ได้แล้วก็เร่งงานต่อ? แล้วจะวางแผนโดยกำหนดเวลาได้ชัดเจนมั้ย?

7. ข้อมูลที่จะใช้สำหรับวางแผนไม่เคยครบถ้วนแถมไม่เคยถูกต้อง

                การวางแผนแน่นอนรายละเอียดเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะปัจจัยที่จะมีผลกับเวลาการผลิตงาน เช่นเวลาปรับตั้งเครื่องจักร เวลาในการผลิต ประสิทธิภาพการทำงานเครื่องจักร อัตราของเสีย ซึ่งไม่เคยนิ่งจากสาเหตุทั้งหลายที่กล่าวมาข้างบน ในเมื่อสมมุติฐานที่ใช้ในการวางแผนไม่เคยตรง ตารางงานวางแผน ก็กลับกลายเป็นตารางงานติดตามความคืบหน้าแทนเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา 

8. การสื่อสารในองค์กรระหว่างแผนก

                อีกปัญหาคลาสสิกและก็เป็นในแทบทุกธุรกิจก็คือปัญหาเรื่องการสื่อสาร  เมื่อมีตารางงานกำหนดขึ้น เมื่อเริ่มทำงานทุกอย่างควรจะเป็นไปตามแผนงาน แต่ข้อเท็จจริงเป็นอย่างนั้นมั้ย?   และเมื่อเกิดเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นคนที่รับผิดชอบจะได้ประเมินผลกระทบและสื่อสารอยู่ตลอด?  ไม่เลยข้อเท็จจริงก็คือเรามักจะรู้เมื่อลูกค้าภายในคนสุดท้าย หรือยิ่งกว่านั้นลูกค้าภายนอกเริ่มส่งเสียงโวยวายเรื่องความล่าช้า   เรามักจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องการสื่อสารดังกล่าวกับส่วนงานผลิตภายใน ลูกค้าภายใน ฝ่ายขาย หรือลูกค้าภายนอกเลย มีแต่เพียงชี้นิ้วใส่กัน หรือโยนความผิดกันไปมา และก็ไม่เชิงว่าเราไม่อยากจะสื่อสารแต่เป็นเพียงแค่เพราะว่าเรายุ่งกับการแก้ไขงาน ตารางงานอันเกิดจากสาเหตุข้างต้นที่กล่าวมาทั้งหมด  

                ทั้งหลายทั้งปวงทำให้ธุรกิจประเภท Job Shop ส่วนใหญ่จึงมักลงเอยกับการเผื่อเวลา Lead time เข้าไว้เพื่อรักษารับดับความสามารถในการส่งมอบ due-date performance และเราก็เริ่มเสียความสามารถในการแข่งขัน หรือไม่เราก็พยายามอย่างหนักที่จะจัดทำตารางงานให้ละเอียดเข้าไว้ แล้วก็ update update update update ไปเรื่อยๆ จนงานได้ส่ง แล้วจะทำตารางงานอย่างนั้นไปทำไม   หรือเรามีวิธีการใหม่ๆ ในปัจจุบันในการใช้ลีนกับธุรกิจ Job Shop ในการปรับปรุงการทำตารางงาน? 
 
tunwa
 
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น